ความแตกต่างของโรงเรียนทั้ง 6 ประเภทในไทย

การเลือกโรงเรียนที่เหมาะสมให้กับลูก เป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่จำเป็นต้องให้ความสนใจ เพื่ออนาคตที่ดีของลูก อย่างไรก็ตามใจปัจจุบัน โรงเรียนไม่ได้มีเพียงแค่โรงเรียนเอกชนกับโรงเรียนรัฐบาล แต่ยังมีโรงเรียนประเภทอื่นๆ เช่น โรงเรียนคาทอลิก โรงเรียนสาธิต โรงเรียนทางเลือก โรงเรียนสองภาษา โรงเรียนนานาชาติ ฯลฯ ซึ่งเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่แพ้กัน วันนี้เราจึงอยากแนะนำความแตกต่างของโรงเรียนทั้ง 6 ประเภท เพื่อให้พ่อแม่ได้พิจารณาก่อนการตัดสินใจ

มาเริ่มกันที่โรงเรียนรัฐบาล ซึ่งเป็นโรงเรียนที่พ่อแม่อยากให้ลูกเข้าเรียนมากเป็นอันดับต้นๆ ด้วยเหตุผลที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นเพราะค่าเทอมไม่สูงมากเมื่อเทียบกับโรงเรียนประเภทอื่นๆ หรือประมาณ 3,000 บาท ถึง 6,000 บาทต่อปี ยกเว้นพ่อแม่เลือกที่จะส่งลูกเรียนห้องพิเศษ หรือที่รู้จักในห้อง Gifted ซึ่งมีการเรียนที่เข้มข้นมากกว่าห้องเรียนทั่วไป ค่าเทอมของห้อง Gifted อาจจะสูงกว่าห้องเรียนทั่วไปแต่ยังถือว่าน้อยกว่าโรงเรียนประเภทอื่นๆ อีกหนึ่งเหตุผลที่
พ่อแม่ตัดสินใจให้ลูกเรียนโรงเรียนรัฐบาลเป็นเพราะโรงเรียนเปิดมานานจึงเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงและมีจำนวนนักเรียนมาก ทำให้นักเรียนที่เรียนในโรงเรียนเหล่านี้มีคอนเนคชั่นที่ดีจากรุ่นพี่ที่จบไปก่อน นอกจากนี้การเรียนการสอนของโรงเรียนรัฐบาลยังเข้มข้นมากกว่าโรงเรียนเอกชนบางแห่ง ทำให้โอกาสที่นักเรียนจะสอบเพื่อเรียนต่อสูงกว่านักเรียนโรงเรียนอื่น อีกหนึ่งเหตุผลที่พ่อแม่ตัดสินใจให้ลูกเข้าเรียนโรงเรียนรัฐบาลเป็นเพราะ พ่อแม่อยากให้ลูกได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในสังคมที่หลากหลายและรู้จักปรับตัว อย่างไรก็ตามโรงเรียนรัฐบาลก็มีข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียน ความสะอาดภายในโรงเรียน รวมถึงการสอนที่ไม่ทั่วถึงเนื่องจากมีนักเรียนจำนวนมาก

เข้าใจข้อดีข้อเสียของโรงเรียนรัฐบาลกันแล้ว เรามาดูกันที่ฝั่งโรงเรียนเอกชนบ้าง โดยตัวเลือกหลักๆที่พ่อแม่ให้ความสนใจในกลุ่มโรงเรียนเอกชนคือ โรงเรียนคาทอลิก ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ดูแลโดยนักบวชของศาสนาคริสต์ ดังนั้น โรงเรียนจึงมีกฎระเบียบที่ค่อนข้างเข้มงวด มีสภาพแวดล้อมที่ดีและทำให้นักเรียนรู้สึกปลอดภัย เน้นการสอนให้นักเรียนรู้จักวางตัวและมีมารยาทในสังคม ที่สำคัญโรงเรียนคาทอลิกส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนที่อยู่ในเครือเดียวกัน ทำให้นักเรียนมีคอนเนคชั่นกับนักเรียนต่างโรงเรียน (ที่อยู่ในเครือเดียวกันด้วย) สำหรับค่าเทอมของโรงเรียนคาทอลิกจะอยู่ในระดับสูง ขึ้นอยู่กับหลักสูตรที่เลือกเรียน หรือ 80,000 บาท ถึง 90,000 บาทต่อปี จุดอ่อนของโรงเรียนคาทอลิกที่สำคัญคือ มีหลักสูตรการเรียนที่ไม่เข้มข้นเท่ากับโรงเรียนประเภทอื่น ๆ ทำให้นักเรียนต้องออกไปเรียนพิเศษ

 

โรงเรียนสาธิต เป็นหนึ่งในโรงเรียนเอกชนที่ได้รับการยอมรับจากพ่อแม่พอสมควร โดยเป็นโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การดูแลของคณะศึกษาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยหลายๆแห่ง เช่น โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ดังนั้น หลักสูตรของโรงเรียนจะเน้นไปที่การเตรียมความพร้อมให้นักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยต้นสังกัดได้ตามที่หวัง รวมถึงใช้การสอนด้วยรูปแบบใหม่ๆที่มุ่งเน้นให้นักเรียนคิดนอกกรอบ
ส่วนครูที่สอนส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาฝึกสอน ซึ่งมีอายุใกล้เคียงกับนักเรียน ทำให้เข้าใจและใกล้ชิดกับนักเรียนมาก
ข้อดีอีกข้อคือ ถึงแม้ว่าการเรียนการสอนจะเข้มข้น แต่ค่าเทอมกลับอยู่ในระดับปานกลางถึงสูง หรือประมาณ 25,000 บาท ถึง 50,000 บาทต่อปี ข้อเสียอย่างหนึ่งของโรงเรียนสาธิต คือ เน้นการเรียนแบบวิชาการมากเกินไป ทำให้ทักษะด้านภาษาของนักเรียนค่อนข้างน้อย

 

สำหรับโรงเรียนทางเลือก ซึ่งเป็นโรงเรียนที่กำลังเป็นที่นิยม เนื่องจากมีระบบการสอนและการประเมินผลที่ยืดหยุ่น แต่เนื้อหาของการเรียนยังคงสอดคล้องกับระบบการศึกษาหลัก ไม่เน้นการเรียนแบบท่องจำ แต่เน้นการเรียนรู้
เชิงปฏิบัติ การเรียนรู้นอกห้องเรียน โรงเรียนทางเลือกแต่ละโรงเรียนจะมีเอกลักษณ์และแนวทางการสอนที่หลากหลายขึ้นอยู่กับแนวคิดของโรงเรียนว่าต้องการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนอย่างไร เช่น บางโรงเรียนอาจสอนนักเรียนด้วย
แนวทางการสอนแบบโครงการ (Project Approach) ที่มุ่งเน้นให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นที่จะเรียน  โดยเน้นให้นักเรียนทำการศึกษาหัวข้อที่สนใจร่วมกับเพื่อน หัดสำรวจ และนำเสนอข้อมูล ซึ่งก่อนที่พ่อแม่จะตัดสินใจส่งลูกเข้าโรงเรียนทางเลือก ควรพิจารณาแนวคิดการสอนของโรงเรียนเสียก่อนว่าเหมาะสมกับความต้องการหรือไม่ ส่วนค่าเทอมของโรงเรียนทางเลือกนี้จะอยู่ในระดับปานกลาง หรือประมาณ 20,000 บาท ถึง 50,000 บาท อย่างไรก็ตามหนึ่งในข้อเสียของโรงเรียนทางเลือกคือ เป็นแนวคิดการเรียนที่ค่อนข้างใหม่ ดังนั้น พ่อแม่จึงไม่มั่นใจกับผลลัพธ์ของการเรียนในโรงเรียนทางเลือก

 

โรงเรียนสองภาษา (Bilingual) คือ โรงเรียนที่ปรับการสอนโดยเน้นทักษะทางด้านภาษา เช่น อังกฤษ-ไทย
ไทย-จีน มาผสมผสานกับหลักสูตรการเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับค่าเทอมของโรงเรียน 2 ภาษา จะอยู่ระดับสูง หรือประมาณ 200,000 บาท ถึง 300,000 บาท ต่อปี อย่างไรก็ตาม โรงเรียน 2 ภาษา ยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องของสภาพแวดล้อมการเรียน เนื่องจากใช้หลักสูตรของไทย ดังนั้น นักเรียนส่วนใหญ่จึงเป็นคนไทยมากกว่าชาวต่างชาติ รวมถึงครูที่สอนเป็นครูคนไทยมากกว่าครูเจ้าของภาษา จึงทำให้การสื่อสารในห้องเรียนบางครั้งอาจใช้ภาษาไทยมากกว่าภาษาอังกฤษ และทำให้แนวคิดแบบตะวันตกหรือความกล้าแสดงออกมีไม่มากเมื่อเทียบกับโรงเรียนนานาชาติ นอกจากนี้ การเรียนยังคงเข้มข้นคล้ายกับโรงเรียนอื่น กล่าวคือมีวิชาเรียนประมาณ 7-8 วิชาต่อวัน และมีจำนวนนักเรียนต่อห้องค่อนข้างเยอะ

 

โรงเรียนนานาชาติ จะมีความแตกต่างกับโรงเรียนสองภาษาตรงที่ โรงเรียนนานาชาติ จะนำเอาหลักสูตร
การเรียนของต่างประเทศมาสอน ดังนั้น วันหยุด กิจกรรมและสื่อการเรียนรู้จะนำมาจากสหรัฐอเมริกาหรือสหราชอาณาจักรเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ ครูที่สอนจึงจำเป็นต้องเป็นครูเจ้าของภาษาหรือครูคนไทยที่ได้รับการรับรองจากต่างประเทศ รวมถึงมีนักเรียนเป็นชาวต่างชาติด้วย ดังนั้น สภาพแวดล้อมการเรียนจึงมีความเหมาะสมและทำให้นักเรียนพูดภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาไทย ในส่วนของค่าเทอมอยู่ในระดับที่สูงกว่าโรงเรียนสองภาษามากเกือบเท่านึง หรือ 200,000 บาท ถึง 900,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ วิชาที่เรียนต่อวันจะไม่หนักเท่ากับโรงเรียนอื่นๆที่กล่าวมาข้างต้น เนื่องจากโรงเรียนจะสอนเพียงแค่ 4-5 วิชาต่อวันเท่านั้น ส่วนจำนวนนักเรียนต่อห้องจะมีแค่ 15 คน ถึง 20 คน ทำให้ครูสามารถดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึง อย่างไรข้อตาม โรงเรียนนานาชาติมีข้อเสียอยู่ที่ทำให้เด็กเก่งเพียงแค่ภาษาใดภาษาหนึ่งเท่านั้น และเนื่องจากเป็นโรงเรียนที่นำหลักสูตรต่างประเทศมาสอน ดังนั้น พ่อแม่ต้องวางแผนการเรียนของลูกเป็นอย่างดี เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถส่งลูกเรียนได้อย่างเหมาะสม

จากประเภทของโรงเรียนที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่า โรงเรียนแต่ละประเภทมีข้อดีข้อเสียที่ความแตกต่างกันในเรื่องของแนวคิดการเรียนการสอน ค่าเทอม ความเข้มข้นของเนื้อหาที่เรียน สภาพแวดล้อมการเรียนที่แตกต่างกัน ดังนั้น ก่อนที่พ่อแม่จะตัดสินใจเลือกโรงเรียนให้ลูก ควรศึกษาถึงระบบการเรียนของโรงเรียนแต่ละเบบ รวมถึงความพร้อมและความถนัดของลูก เพื่อเลือกโรงเรียนที่เหมาะเด็กและตรงตามความต้องการของพ่อแม่

 

อ้างอิง

https://bit.ly/3esRnLH

https://bit.ly/2RCBl9m

https://www.finnomena.com/tanhnanchya/6-school-types/

https://www.parentsone.com/5-alternative-schools/

https://bit.ly/3twosLh

https://www.finnomena.com/buffettcode/ep-vs-inter/