สวัสดีครับน้องๆทุกคน พี่ชื่อ ศุภกฤต โฆษิตบวรชัย หรือชื่อเล่นชื่อไอซ์ ตอนนี้พี่กำลังศึกษาอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
วันนี้พี่ก็จะมาแนะนำวิธีอ่านหนังสือของตัวพี่เอง และเทคนิคเล็กๆน้อยที่พี่ทำก่อนสอบ ก่อนอื่นเลย...พี่อยากเล่าเรื่องคร่าวๆเมื่อสมัยเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลายก่อน ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง พี่ต้องขอบอกก่อนว่าพี่ไม่ใช่คนที่เรียนหนังสือเก่งอะไรเลย ออกแนวเป็นคนที่อ่านหนังสือช้า และจำเนื้อหาได้ไม่ค่อยดีด้วยซ้ำไป ตอนเข้าเรียน ม.4 พี่ไม่ใช่คนที่นั่งหน้าห้องตั้งใจเรียน หรือ อ่านหนังสือล่วงหน้านานๆก่อนสอบที่โรงเรียน ส่วนมากจะออกแนวอ่านก่อนสอบอย่างเดียว ทำให้ผลการเรียนที่โรงเรียน ออกมาไม่ดี
แต่พอขึ้นมา ม. 5 ก็มีหลายๆอย่างที่เปลี่ยนไปที่ทำให้เราต้องคิดถึงอนาคตของเรามากขึ้น วันหนึ่ง ก็มีรุ่นพี่มาแนะนำว่าให้เริ่มคิดถึงคณะที่อยากเรียน ว่าอยากสอบเข้าคณะไหนได้แล้ว หลังจากครุ่นคิดอยู่นาน พี่ก็ตัดสินใจว่าอยากศึกษาต่อในด้านที่เกี่ยวกับการแพทย์ เพราะเป็นสิ่งที่พี่ชอบ พี่ก็เริ่มหาข้อมูลที่เกี่ยวกับการสอบ ไม่ว่าจะเป็นคะแนนที่ต้องใช้ ช่วงเวลาที่สอบแต่ละสนาม หรือการยื่นเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้น การที่ได้รู้ตัวเองว่าเป็นคนที่อ่านหนังสือได้ช้า และจำเนื้อหาได้ไม่ค่อยดี พี่เลยเริ่มวางแผนการอ่านหนังสือ จัดเวลาเรียนพิเศษ ว่าต้องเรียนอะไร จบช่วงไหนบ้าง
นอกจากนั้น พี่ยังต้องวางแผนที่ต้องอ่านหนังสือหลายรอบ และทำซ้ำๆ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย หากจะต้องทำทุกอย่างตอน ม.6 ดังนั้นการเตรียมตัวก่อน พี่มองว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ และจะเป็นแต้มต่อที่ทำให้เรามีเวลาเพิ่มขึ้นเพื่อกลับมาทวนเนื้อหาอีกด้วย
จากการถามรุ่นพี่หลายๆคนมา มีคำแนะนำที่สำคัญที่พี่อยากบอกต่อให้น้องๆได้ฟังเลย นั่นคือ ข้อแรก จงอย่าทิ้งเนื้อหาสักบท เพราะสมมติเราเก็บเนื้อหาครบทุกบท การทำข้อสอบ ย่อมมีข้อผิดพลาดอยู่แล้ว ดังนั้นเองถ้าหากรวมข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น กับเนื้อหาที่น้องทิ้งไป คะแนนมันก็จะยิ่งลดลงไปอีก ดังนั้นพี่อยากแนะนำให้น้องๆที่มีเวลา เรียนเนื้อหาให้ครบทุกบทและทำมันให้ได้ ถึงแม้เราจะไม่ชอบมันแค่ไหนก็ตาม เพื่อที่เราจะได้เผื่อคะแนนที่เสียไปกับข้อที่เราคิดผิดไปนั่นเอง
ส่วนข้อที่สองก็คือการทำข้อสอบบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบฝึกหัดหรือข้อสอบเก่าๆ นับเป็นขุมสมบัติที่มีค่ามากๆไม่แพ้เนื้อหาเลยที่เดียว ถ้าจะให้เปรียบเทียบก็เปรียบเหมือนการจำสูตรทำอาหารก็ได้ แต่ถ้าเราไม่เคยฝึกทำ ลองชิมดูเลย เราก็ไม่มีทางทำอาหารได้รสชาติอร่อยได้นั่นเอง การที่เราเรียนเนื้อหาอย่างเดียวก็เหมือนกัน เพราะมันไม่ได้ทำให้เราเห็นข้อผิดพลาดของตนเเอง ความรู้ที่ลืม หรือ เนื้อหาที่เราอาจจะจำสลับกับ ซึ่งเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องปกติมากๆ และเกิดขึ้นได้กับทุกคน การฝึกฝนทำโจทย์นอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาพวกนี้แล้วยังให้เราจำเนื้อหาได้แม่นยำมากขึ้น ดังนั้น การเรียนรู้ข้อผิดพลาดตัวเอง ปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้น จะเป็นตัวแปรที่สำคัญที่ทำเราทำข้อสอบได้ในห้องสอบ
ในห้องสอบ สิ่งที่พี่อยากจะฝากไว้ก็คือการเตรียมตัวไปให้พร้อม ทุกๆนาทีในห้องสอบมันสามารถเปลี่ยนแปลงคะแนนของเราได้เสมอ ถ้าเรามีเวลาเหลือในห้องสอบ ลองเปลี่ยนจากการออกห้องสอบก่อน หรือนอนหลับให้ห้อง เป็นการทบทวนข้อที่ไม่มั่นใจอีกสักรอบ อาจจะเป็นการเพิ่มคะแนนให้เราได้อีกหลายคะแนนเลยทีเดียวก็ได้ อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ ข้อสอบไม่ได้เรียงตามความง่ายไปยาก และเราไม่จำเป็นต้องทำตามข้อ พี่เองเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยทำข้อสอบเรียงตามข้อ เพราะถ้าเจอข้อยากๆตั้งแต่ต้นจะทำให้เราทำข้อสอบไม่ทัน
การตั้งสติ และลงมือทำข้อที่เราทำได้ก่อน การวางแผนลำดับการทำข้อสอบที่ดี ทำให้เราทำข้อง่ายๆได้ทันเวลา และข้อยากๆที่ทำไม่ได้ก่อนหน้า เวลาที่เหลือจะเป็นตัวบอกว่าเราควรทำต่อหรือควรเดา และอย่าลืมว่าการอยู่กับตัวเองระหว่างสอบวิชาถัดไปก็เป็นเรื่องที่สำคัญ การพูดคุยถึงคำตอบที่คนอื่นตอบหลังสอบเสร็จ ไม่ได้ทำให้คะแนนเราเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด นอกจากนี้หากเราตอบไม่ตรงกับเพื่อน ก็จะทำให้เราเสียกำลังใจและไม่มีความมั่นใจในการสอบวิชาต่อไป ดังนั้น การอยู่กับตัวเองเพื่อเตรียมตัวสอบวิชาถัดไป อาจจะเป็นทางเลือกที่น้องเอาไปใช้ได้น้า
สุดท้ายนี้ ต้องบอกก่อนว่าการติดตามข่าวสารของปีที่จะสอบ เป็นเรื่องที่สำคัญมากไม่แพ้กัน ระบบการสอบสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกปี ไม่ว่าจะเป็นระบบการสอบ ช่วงเวลาที่สอบ หรือจำนวนรอบที่รับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถมั่นใจได้ว่า จะเป็นเฉกเช่นเดียวกับปีก่อนๆหรือไม่ ยกตัวอย่างปีที่พี่สอบซึ่งคือปีแรกที่มีการเปลี่ยนระบบเป็น TCAS ซึ่งบอกได้เลยว่าค่อนข้างแตกต่าง กับปีก่อนๆ ถ้าเราเข้าใจระบบ ว่าต้องยื่นช่วงไหนบ้าง สอบอะไรบ้าง ก็จะทำให้เราวางแผนได้ดีขึ้น แต่ถ้าเราไม่ศึกษาข้อมูลการสอบปีนี้เลย แล้ววางแผนโดยอ้างอิงปีก่อนๆเป็นหลักอาจจะทำให้เราเตรียมตัวพลาดได้ ขอให้น้องๆทุกคนโชคดีครับบบ