TCAS ย่อมาจาก Thai University Center Admission System
เป็นระบบการคัดเลือกบุคคลเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเริ่มนำมาใช้ในปีการศึกษา 2561 ออกแบบโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)
ระบบนี้ไม่ใช่ระบบเอนทรานซ์(Entrance) และระบบแอดมิชชั่น(Admission) แต่เป็นระบบใหญ่ที่มีรอบแอดมิชชั่นเป็นส่วนหนึ่งของระบบ (คือ รอบที่ 4)
แบ่งการรับออกเป็น 5 รอบ คือ
รอบที่ 1 (แบ่งออกเป็น 2 รอบย่อย) |
รอบที่ 2 | รอบที่ 3 | รอบที่ 4 | รอบที่ 5 | |
---|---|---|---|---|---|
รูปแบบการรับ | Portfolio (แฟ้มสะสมผลงาน) |
โควตา | รับตรงร่วมกัน | Admissions | รับตรงอิสระ |
ประเภทนักเรียน | นักเรียนทั่วไป / มีความสามารถพิเศษ / โควตา / เครือข่าย |
นักเรียนในเขตพื้นที่ / นักเรียนในภูมิภาค / โควตา / เครือข่าย |
นักเรียนโครงการ กสพท. / นักเรียนโครงการอื่นๆ |
นักเรียนทั่วไป | นักเรียนทั่วไป |
จำนวนที่รับ | 44,258 คน | 68,050 คน | 44,390 คน | 34,744 คน | 15,064 คน |
ช่วงการรับสมัคร | ครั้งที่ 1 : ต.ค. – พ.ย. ครั้งที่ 2 : ธ.ค. – ก.พ. | ธ.ค. – มี.ค. (สมัครที่มหาลัย) | เดือน พ.ค. | เดือน มิ.ย. | เดือน ก.ค. |
ลักษณะการสอบ | ไม่มีการสอบข้อเขียน เน้นไปทางการยื่นผลงานของตนเอง ใช้การสมัครแบบออนไลน์ อัพโหลดเอกสาร + สอบสัมภาษณ์ | ใช้ข้อสอบกลาง GAT/ PAT / 9 วิชาสามัญ หรือทางมหาลัยอาจวัดสอบเอง โดยการสอบข้อเขียน หรือสอบปฏิบัติ (แต่วิชาต้องไม่ซ้ำกับข้อสอบกลาง) | คัดเลือกนักเรียนจากคะแนนของข้อสอบกลาง , GPAX, O-NET, GAT/ PAT โดยนักเรียนเลือกได้ 4 สาขาวิชา (อธิบายเพิ่ม ด้านล่าง) |
ใช้คะแนน GPAX 20% O-NET 30% GAT/ PAT 50% โดยนักเรียนเลือกได้ 4 สาขาวิชา แบบมีลำดับ (ติดได้ที่เดียว) | เป็นโอกาสสุดท้ายของ การสอบ ทางมหาลัยใช้เกณฑ์การสอบที่จัดขึ้นเอง หรือการสอบวิชาเฉพาะ |
รอบที่ 3 การรับตรงร่วมกัน
- เลือกได้ 4 รหัส
- เฉพาะคนที่สอบแพทย์เท่านั้น ที่จะเลือกแยกย่อยไปอีก 4 อันดับใน 1 รหัส กสพท.
โดย กสพท. นับเป็น 1 อันดับ ซึ่ง 3 อันดับที่เหลือห้ามเลือกคณะทับซ้อนกับ กสพท.
เลือกได้ 4 รหัส | อันดับย่อย กสพท. | ใช้คะแนน | หน่วยงานที่คัดเลือก |
---|---|---|---|
รหัส 1 กสพท. | อันดับ 1 แพทย์ จุฬา อันดับ 2 แพทย์ รามา อันดับ 3 ทันตะ จุฬา อันดับ 4 ทันตะ มหิดล |
9 วิชาสามัญ ความถนัดแพทย์ | กสพท. |
รหัส 2 วิศวะ จุฬา | GAT, PAT1, PAT3 | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | |
รหัส 3 วิศวะ ม.เกษตร | GAT, PAT1, PAT3, วิชาสามัญ | มหาวิทยาลัยเกษตร | |
รหัส 4 วิศวะ ลาดกระบัง | GAT, PAT1, PAT3 | มหาวิทยาลัยลาดกระบัง |
โดย TCAS มีการเพิ่มระบบ Clearing House ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ยืนยันสิทธิ์ โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในแต่ละรอบ จะต้องยืนยันสิทธิ์ Clearing House ในการที่จะเข้าเรียนได้แค่คนละ 1 ที่เท่านั้น
ดังนั้นผู้ที่ผ่านการคัดเลือกหลายๆที่พร้อมกัน จะไม่สามารถกันที่ของคนอื่นได้นั่นเอง
TCAS แบ่งการสอบออกเป็น 5 หมวด ดังนี้
1. O-NET (Ordinary National Education Test) หรือการสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน O-NET ม.6 คือ การวัดผลของโรงเรียนแต่ละโรงเรียนว่า ได้สอนนักเรียนของตัวเองตามหลักสูตรกระทรวงขนาดไหน ข้อสอบ O-NET นี้จะเป็นข้อสอบง่ายๆ ที่วัดเฉพาะพื้นฐานจริงๆ เท่านั้น
รอบที่ใช้ : 2 , 3 , 4 , 5 โดยรอบ 2 และ 3 อาจจะใช้คะแนน O-NET น้อย ส่วนรอบ 4 จะใช้คะแนน O-NET มาก
เวลาที่ใช้สอบ : 2 ชั่วโมง
คะแนนเต็ม : 100 คะแนน
สอบทั้งหมด 5 วิชา 1) ภาษาไทย 2) สังคม 3) คณิต 4) วิทย์ (ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ดาราศาสตร์) 5) อังกฤษ
2. GAT (Genetal Aptitude Test) หรือมีชื่อเป็นภาษาไทยสั้นๆ ว่า การสอบความถนัดทั่วไป ซึ่งจะเน้นเนื้อหาทางด้าน การอ่าน เขียน คิดวิเคราะห์การแก้โจทย์ปัญหา รวมไปถึงการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ข้อสอบ GAT นี้จะมีความซับซ้อนมากกว่าความยาก
รอบที่ใช้ : 2 , 3 , 4 , 5
เวลาที่ใช้สอบ : 3 ชั่วโมง
คะแนนเต็ม : 300 คะแนน
- เนื้อหา
- GAT 1 คือ GAT เชื่อมโยง (150 คะแนน)
การอ่าน เขียน คิดวิเคราะห์และการแก้โจทย์ปัญหา- GAT 2 คือ GAT อังกฤษ (150 คะแนน)
การสื่อสารด้วยภาษา อังกฤษ (Vocabulary, Structure/Writing, Reading Comprehensive) - ลักษณะข้อสอบ
- ข้อสอบปรนัย และอัตนัยที่ตอบแบบปรนัย
- ข้อสอบ เน้น Content Free และ Fair
- เน้นความซับ ซ้อน (Complexity) มากกว่า ความยาก
3. PAT (Professional Aptitude Test) หรือมีชื่อเป็นภาษาไทยสั้นๆว่า การสอบความถนัดเฉพาะด้าน หรือวิชาการ เป็นข้อสอบที่ยาก
วิชาเฉพาะด้านที่มีสอบคือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ พื้นฐานวิศวกรรม พื้นฐานสถาปัตยกรรม พื้นฐานความเป็นครู และวิชาด้านภาษาอื่นๆ นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ
รอบที่ใช้ : 2 , 3 , 4 , 5
เวลาที่ใช้สอบ : 3 ชั่วโมง
คะแนนเต็ม : 300 คะแนน
PAT มีจำนวนทั้งหมด 7 หมวด ดังนี้
PAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์
เป็นโจทย์คณิตศาสตร์ที่ยากที่สุดในการสอบ Admission (ยากกว่าข้อสอบ O-Net และ 9 วิชาสามัญ) นักเรียนคนไหนที่ได้คะแนนสูงๆ ถือว่ามีทักษะด้านคณิตศาสตร์ที่ดีมากๆ เนื้อหาของข้อสอบ ประกอบด้วยบทเรียนของคณิตศาสตร์พื้นฐาน (คณิตศาตร์หลัก) และคณิตศาสตร์เสริม ทั้งหมด 17 บท ซึ่งบทเรียนที่มีเนื้อหาซับซ้อน และปริมาณมากๆ ก็จะใช้ออกข้อสอบใน ปริมาณที่มากตามไปด้วย เช่น เอกซ์โพแนนเชียลและลอการึทึม ความน่าจะเป็น ตรีโกณมิติ แคลคูลัส สถิติ ลำดับและอนุกรม กลุ่มคณะที่ใช้ เช่น คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะบริหาร-บัญชี เศรษฐศาสตร์ คณะเกษตร-วนศาสตร์
PAT 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์
เนื้อหาของข้อสอบ ประกอบด้วย 4 วิชา คือ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และ ดาราศาสตร์ โดยจำนวนข้อสอบของวิชา ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา แต่ละวิชามีจำนวนข้อที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน (25-35%) ส่วน ดาราศาตร์จะมีจำนวนข้อที่น้อยสุด (10-15%) เนื่องจากข้อสอบ PAT 2 ประกอบด้วย 4 วิชาด้วยกัน มีผลทำให้นักเรียนจำนวนมาก เลือกทำเฉพาะวิชาที่ตนเองได้เตรียมตัวมา ดังนั้น PAT2 ถือว่ามีความยากอยู่พอสมควร เพราะปริมาณที่มากของบทเรียนในการออกข้อสอบ มีคณะที่ใช้ เช่น คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์
PAT 3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์
เนื้อหาของข้อสอบ ประกอบด้วย 3 วิชา คือ ฟิสิกส์ (เน้นเรื่องของไหล แสง เสียง ภาคกลศาสตร์ และไฟฟ้า) เคมี (เน้นคำนวณ เช่น ปริมาณสารสัมพันธ์ กรด-เบส แก๊ส รวมถึงผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม) คณิตศาสตร์ (เน้นเรื่องแคลคูลัส สถิติ) รวมถึงการมองภาพ 3 มิติ (isometricพื้นฐาน) ก็เป็นข้อสอบด้วยเช่นกัน มีคณะเดียวที่ใช้ คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์
PAT 4 ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์
เนื้อหาของข้อสอบ เกี่ยวกับ isometric(PLAN PRONT SIDE) แนวข้อสอบตรรกะ ความรู้ทั่วไป และให้วาดรูป (perspective) มีคณะเดียวที่ใช้ คือ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
PAT 5 ความถนัดทางวิชาชีพครู
มีคณะเดียวที่ใช้ คือ คณะครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์
PAT 6 ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์
เนื้อหาเกี่ยวกับ ทฤษฎีศิลปะ ทัศนศิลป์ ดนตรี นาฏยศิลป์ มีคณะที่ใช้ คือ คณะศิลปกรรมศาสตร์ (วิจิตรศิลป์ ศิลปะประยุกต์) ดุริยางคศิลป์ และนาฏยศิลป์
PAT 7 ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ
โดยนักเรียนต้องเลือกสอบภาษาใดภาษาหนึ่ง เนื่องจากแต่ละภาษา สอบวัน เวลาเดียวกัน แบ่งออกเป็น 6 ภาษา ดังนี้
7.1 ภาษาฝรั่งเศส 7.2 ภาษาเยอรมัน 7.3 ภาษาญี่ปุ่น 7.4 ภาษาจีน 7.5 ภาษาอาหรับ 7.6 ภาษาบาลี
มีคณะที่ใช้ เช่น กลุ่มการโรงแรมและท่องเที่ยว กลุ่มมนุษย์ฯ-อักษรฯ-สังคมศาสตร์
4. 9 วิชาสามัญ เคยมีชื่อว่า 7 วิชาสามัญ มาก่อน ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลง เพิ่มวิชาเข้ามา 2 วิชาคือ คณิตศาสตร์ของสายศิลป์ และวิทยาศาสตร์ทั่วไปของสายศิลป์
รอบที่ใช้ : 2 , 3 , 4 (เฉพาะ กสพท.), 5
เวลาที่ใช้สอบ : 1 ชั่วโมง 30 นาที
คะแนนเต็ม : 100 คะแนน
9 วิชาสามัญมีจำนวนวิชาที่ใช้สอบดังนี้
- ภาษาไทย
- สังคมศึกษา
- ภาษาอังกฤษ
- คณิตศาสตร์ 1 (สายวิทย์)
- ฟิสิกส์
- เคมี
- ชีววิทยา
- คณิตศาสตร์ 2 (สายศิลป์)
- วิทยาศาสตร์ทั่วไป (สายศิลป์)
โดยนักเรียนต้องเลือกสอบระหว่างคณิตศาสตร์ 1 หรือ คณิตศาสตร์ 2 เนื่องจากสอบวัน เวลาเดียวกัน เช่นเดียวกับ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา หรือ วิทยาศาสตร์ทั่วไป ซึ่งต้องเลือกสอบ
โดยคณะสายแพทย์ใช้จำนวนวิชา 1 – 7 ไม่รวมคณิตศาสตร์ 2 และ วิทยาศาสตร์พื้นฐาน
5. ความถนัดต่างๆ
เช่น ความถนัดทางดนตรี นาฏศิลป์ หรือการแสดง, วิชาเฉพาะ กสพท. (วิชาความถนัดแพทย์ : .ใช้ 30%) วิชาความถนัดต่างๆ ที่จัดสอบห้ามตรงกับวิชาของข้อสอบกลาง ( O-NET GAT PAT 9 วิชาสามัญ )
รอบที่ใช้ : 2 , 3 , 4 (เฉพาะ กสพท.), 5
เวลาที่ใช้สอบ : ขึ้นอยู่กับคณะจะจัดสอบ
ช่วงสัปดาห์ของการสอบ แบ่งออกเป็นดังนี้
สัปดาห์ | ช่วงเวลา | รายวิชา |
---|---|---|
สัปดาห์ที่ 1 | 23 – 26 ก.พ. 62 | GAT / PAT |
สัปดาห์ที่ 2 | 2 – 3 มี.ค. 62 | O-NET |
สัปดาห์ที่ 3 | 10 หรือ 11 มี.ค. 62 | วิชาเฉพาะแพทย์ |
สัปดาห์ที่ 4 | 16 – 17 มี.ค. 62 | 9 วิชาสามัญ |
สัปดาห์ที่ 5 – 7 | วิชาเฉพาะของแต่ละมหาลัย |